โรคหน้าอก

อาการเจ็บหน้าอก มีอาการแบบไหนบ้าง บ่งบอกถึงอะไร

หากคุณเป็นคนหนึ่ง ที่อาการเจ็บหน้าอกบ่อย ๆ แบบผิดปกติ เชื่อว่าสิ่งแรกที่คุณจะนึกถึง นั้นก็คือ โรคหัวใจเป็นโรคอันดับแรกๆ รู้หรือไม่ บางครั้ง อาการเจ็บหน้าอก ไม่ได้หมายถึงอาการของโรคหัวใจเสมอไป อาการเจ็บหน้าอกอาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อเอ็นหรือกระดูกซี่โครงอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ

อาการเจ็บหน้าอกแบบต่าง ๆ

  • อาการเจ็บแปล๊บ ๆ เหมือนถูกเข็มแทงหรือถูกไฟช็อตเกิดจากเส้นประสาทอักเสบ
  • อาการเจ็บเวลาหายใจเข้าลึก ๆ หรือเมื่อเอี้ยวตัวเกิดจากกล้ามเนื้อเอ็นหรือกระดูกซี่โครงอ่อนอักเสบ
  • กดเจ็บบริเวณหน้าอก โดยเฉพาะบริเวณกระดูกซี่โครงใกล้ ๆ ทรวงอกเกิดจากกระดูกซี่โครงอ่อนอักเสบ
  • เจ็บหน้าอกเจ็บตลอดเวลา เป็นนานหลายชั่วโมง หรือเป็นวันโดยที่ไม่มีอาการร้ายแรงอื่น ๆ เกิดจากกล้ามเนื้อเอ็นหรือกระดูกซี่โครงอ่อนอักเสบ

อาการเจ็บหน้าอกของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ลักษณะอาการเจ็บหน้าอกที่บ่งบอกว่าเป็น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack หรือ Acute myocardial infarction) ซึ่งภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนั้น จะมีลักษณะอาการจำเพาะดังนี้

  • แน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนัก ๆ มากดทับที่กลางอกลึก ๆอยู่ข้างในทรวงอกใต้ผิวหนัง
  • มักมีอาการปวดร้าวไปที่อื่น ได้แก่ ไหล่ แขน หรือกราม
  • บางรายอาจไม่ได้รู้สึกเจ็บที่กลางอก แต่อาจมีอาการจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่แทน โดยที่ไม่เคยมีประวัติโรคกระเพาะอาหารมาก่อน
  • เมื่อออกแรง เช่นลุกเดิน แล้วแน่นอกมากขึ้นมากขึ้น และเมื่อได้นั่งพักแล้วอาการแน่นอกทุเลา
  • มีเหงื่อออกท่วมตัว
  • อาจมีอาการคลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น หรือหอบเหนื่อยผิดปกติแม้ขณะนอนพักเฉย ๆ จึงมักจะลุกเดินเองไม่ไหว
  • หากมีอาการเจ็บแน่นอกดังกล่าวติดต่อกันนานมากกว่า 20 นาทีขึ้นไป ถือว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ควรพบแพทย์ทันที

โรคอื่นๆที่อาจมีอาการเจ็บบริเวณอกได้

โรคปอดรั่ว (pneumothorax)

โรคปอดรั่ว (pneumothorax)

ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นในอกได้ แต่มักจะเจ็บอกที่ข้างซ้ายหรือขวาข้างใดข้างหนึ่งชัดเจน ร่วมกับหายใจไม่อิ่มเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ทีละน้อยตลอดเวลา โรคนี้จำเป็นต้องรับการรักษาโดยเร็ว เพราะหากปล่อยไว้ติดต่อกันหลายชั่วโมงอาจทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้

โรคกรดไหลย้อน (GERD)

จะมีอาการเจ็บแบบแสบร้อนตั้งแต่บริเวณลิ้นปี่ ขึ้นมากลางอก บางรายอาจแสบร้อนขึ้นมาถึงในลำคอ เมื่อทานอาหารอิ่มหรือนอนราบแล้วมักมีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหอบเหนื่อย ลุกเดินไปมาแล้วอาการจะทุเลา อาการมักจะดีขึ้นหลังได้รับยารักษาโรคกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่ไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต

โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary embolism)

บางคนอาจเรียกว่า Economy class syndrome เนื่องจากโรคนี้จะมีความสัมพันธ์กับการเดินทางไกลแล้วต้องนั่งอยู่กับที่โดยไม่ค่อยมีการขยับขาติดต่อกันหลายชั่วโมง ร่วมกับมีภาวะขาดน้ำเป็นปัจจัยเสริม ทำให้เลือดข้นหนืดแล้วเกิดเป็นลิ่มเลือดที่ขาวิ่งเข้าสู่ปอดได้ ทำให้คนไข้มีอาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม เจ็บแน่นในอกคล้ายโรคหัวใจได้

โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary embolism)

โรคงูสวัด (Shingles)
โรคงูสวัดจะทำให้เกิดตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นตั้งแต่หลังไปจนถึงหน้าอกทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด

หรืออาการที่ไม่ได้เกี่ยวกับโรค เกิดจากความกลัวหรือกังวล
ความกลัวหรือกังวลถือเป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยความรู้สึกกลัวหรือกังวลนั้นส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกายอย่างเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่สุด คลื่นไส้ เวียนหัว และรู้สึกกลัวตาย

การป้องกันอาการเจ็บหน้าอก

อาการเจ็บหน้าอกเกิดจากหลายสาเหตุ การป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวจึงควรเริ่มตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อันเป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก

เช่นภาวะเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจและหัวใจขาดเลือด (Angina) อาการเจ็บหน้าอกจากสาเหตุนี้สามารถป้องกันได้ โดยลดความเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ ดังต่อไปนี้

  • รับประทานผักและผลไม้ รวมทั้งอาหารไขมันต่ำเส้นใยสูงอย่างธัญพืชต่าง ๆ และจำกัดการรับประทานเกลือไม่ให้เกิน 6 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน เนื่องจากเกลือจะทำให้ความดันโลหิตสูง
  • ออกกำลังกายควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยความเสี่ยงเกิดความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำยังช่วยให้หัวใจและระบบการไหลเวียนเลือดมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลี่ยงอาหารหวานและอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
  • เลี่ยงกิจกรรมหนัก ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก