โรคหน้าอก

แสบหน้าอก บ่งบอกถึงโรคอะไรได้บ้าง เรามีคำตอบมาฝาก

อาการแสบร้อนกลางอก แสบหน้าอก เป็นอาการที่หลาย ๆ คนเกิดขึ้นบ่อย หลายคนอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณกลางอก หรือลิ้นปี มีอาการเรอเปรี้ยวหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าคืออาการของโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน

คือภาวะที่มีกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามมาที่บริเวณหน้าอกหรือคอ มีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ที่เรียกว่าอาการเรอเปรี้ยว อาการเหล่านี้เป็นสาเหตุให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นแผลรุนแรง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร บางรายอาจมาด้วยอาการทางระบบ หู คอ จมูก ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง หรือ อาการทางระบบหายใจเช่น หอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ

หยุดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน

  • อาการโรคกรดไหลย้อน โดยทั่วไปถูกกระตุ้นด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ดี ดังนั้นเราสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างต้น และผลร้ายแรงต่าง ๆ ที่จะตามมาได้โดย
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด รวมถึงอาหารไขมันสูง
  • ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป
  • รับประทานอาหารมื้อเย็นแต่เพียงพอดี ไม่ทานในปริมาณมากเกินไป และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรมีเวลาย่อยก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
  • ไม่สวมเสื้อผ้ารัดรูปมากเกินไป
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาประเภทลดกรดในกลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPI) โดยระยะเวลาในการให้ยาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของแพทย์ หากไม่สามารถรักษาโดยการทานยาแพทย์อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการส่องกล้องผ่าตัด

พฤติกรรมที่ช่วยลดกรดไหลย้อน

พฤติกรรมที่ช่วยลดกรดไหลย้อน

หลีกเลี่ยงมื้อใหญ่ควรเปลี่ยนเป็นมื้อย่อย

การรับประทานอาหารปริมาณมากภายในมื้อเดียวจะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร (Lower Esophageal Sphincter: LES) ที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารเกิดหย่อนจนปิดไม่สนิทหรือไม่สามารถปิดได้ ทำให้กรดและอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไป ด้วยเหตุนี้จึงเกิดอาการแสบร้อนกลางทรวงอกตามมา ลองแบ่งมื้อหลัก 3 มื้อออกเป็น 5-6 มื้อย่อยแทน และเลี่ยงการรับประทานอาหารในเวลาใกล้เคียงกับเวลาเข้านอนอาจช่วยให้อาการดีขึ้น

งดอาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภท

ประเภทอาหารก็มีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดอาการแสบร้อนกลางทรวงอกได้เช่นกัน แต่จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ซึ่งประเภทอาหารที่ควรระวังจะเป็นพวกอาหารรสจัด ไขมันสูง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม อาหารเผ็ด อาหารทอดและอาหารที่เป็นกรด

ไม่ควรเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร

อิ่มนักก็นั่งพักก่อน ออกไปเดินย่อย แต่ไม่ควรล้มตัวนอนหรือกระโดดขึ้นเตียงหลังกินอิ่มใหม่ ๆ แต่ควรทิ้งเวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงให้ร่างกายได้ย่อยอาหารให้หมดเรียบร้อยเพื่อลดปริมาณกรดที่ผลิตออกมามากในระหว่างการย่อยและทำให้อาหารไม่ตกค้างในกระเพาะอาหาร การยืนแทนการนอนหลังอาหารนั้นจะช่วยให้อาหารและกรดนั้นคงอยู่ในกระเพาะอาหารและไม่ไหลย้อนขึ้นมา ลองนอนตะแคงแทนการนอนคว่ำ และยกหัวให้สูง วิธีนี้สามารถลดอาการที่เกิดขึ้นได้มาก

ลดน้ำหนัก

การมีน้ำหนักมักนั้นจะเพิ่มความดันต่อช่องท้องทำให้ของที่อยู่ในกระเพาะอาหารนั้นถูกดันขึ้นมาในหลอดอาหารได้ การรับประทานอาหารมื้อใหญ่นั้นๆ ก็สามารถเพิ่มความดันในช่องท้องและทำให้กรดไหลย้อนได้เช่นกัน ดังนั้นการรับประทานอาหารมื้อเล็กลงและลดน้ำหนักนั้นสามารถลดอาการแสบร้อนกลางหน้าอกได้

สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นบริเวณช่วงท้อง

การสวมใส่เสื้อผ้าหรือชุดที่รัดบริเวณกลางลำตัวและสะโพก อาจเพิ่มแรงดันในช่องท้องให้มากขึ้นจนดันให้กรดไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้ การเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัวและพอดีกับรูปร่างอาจช่วยบรรเทาอาการไม่ให้กำเริบ

นอนหมอนสูง

ท่านอนในลักษณะที่ยกศีรษะให้มีระดับที่สูงขึ้นอาจช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางทรวงอกไม่ให้แย่ลง เพราะขณะที่เรานอนราบลงกับพื้นหรือเตียงจะทำให้คอและท้องอยู่ในระดับเดียวกัน จึงมีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่าย

เลิกบุหรี่

บุหรี่นั้นมีสารเคมีที่สามารถทำลายหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างได้ และเมื่อหูรูดนี้อ่อนแอลงก็จะทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น

เคี้ยวหมากฝรั่งก็ช่วยได้

การเคี้ยวหมากฝรั่งจะไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหล่อลื่นหลอดอาหารและล้างกรดให้ลงไปในกระเพาะอาหารตามเดิม จึงอาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น

ทานอาหารที่มีโปรตีนสูงและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก

มื้ออาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนนั้นจะสามารถเพิ่มความดันของหูรูดที่หลอดอาหารส่วนล่าง ซึ่งจะทำให้มันสามารถต้านกรดไหลย้อนได้มากขึ้น ในขณะที่อาหารที่มีไขมันสูงนั้นจะลดความดันที่หูรูดและทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น